Category Archives: ความรู้เพื่อสุขภาพ

ความรู้เพื่อสุขภาพ: โรคไหล่ติด

รศ.นพ.พิงควรรศ คงมาลัย
ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์การกีฬาและการผ่าตัดข้อไหล่ภาควิชาออร์โธปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

โรคไหล่ติดเกิดขึ้นจากการอักเสบของเยื่อหุ้มข้อไหล่ โดยการอักเสบนี้ในระยะแรกจะทำให้เกิดอาการปวดไหล่ขึ้น ต่อมาเยื่อหุ้มข้อไหล่จะหนาตัวมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้อาการไหล่ติดรุนแรงขึ้น และทำให้เกิดโรคไหล่ติดในที่สุด อาการที่บ่งบอกถึงโรคไหล่ติดสามารถสังเกตได้ง่ายดังนี้

  • ปวดไหล่เรื้อรัง หรือปวดรุนแรงช่วงเวลากลางคืน
  • ยกแขนข้างนั้นได้ไม่เท่ากับข้างที่ปกติ ไม่สามารถยกแขนแนบหูได้
  • ติดตะขอชุดชั้นในจากทางด้านหลังไม่ได้ / เกาหลังไม่ได้ (ภาพที่ 1)
  • ยกแขนเพื่อสวมเสื้อผ้าไม่ได้
  • เอี้ยวตัวหยิบของด้านหลังไม่ได้

สาเหตุของโรคไหล่ติดยังไม่ทราบแน่ชัด แต่พบว่าผู้ป่วยโรคเบาหวานหรือไทรอยด์มีโอกาสเป็นโรคนี้สูง บางครั้งผู้ป่วยอาจมีอุบัติเหตุเล็กน้อยนำมาก่อน หรืออาจมีการอักเสบของเส้นเอ็นข้อไหล่ ส่งผลให้ผู้ป่วยใช้งานแขนข้างนั้นน้อยลงเนื่องจากคิดว่ามีอาการปวดจึงต้องพักการใช้งาน เมื่อร่างกายสั่งให้พักการใช้งานแขนข้างนั้น อาการไหล่ติดจึงยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นตามระยะของโรคต่อไป

ข่าวดีสำหรับผู้อ่านทุกท่านก็คือ โรคไหล่ติดนี้สามารถหายเองได้ อย่างไรก็ตาม กระบวนการหายจะเป็นไปอย่างช้า ๆ รวมระยะเวลาตั้งแต่เริ่มเป็นจนหายดีอาจถึงสองปีตามระยะของโรค ผู้ป่วยส่วนใหญ่เมื่อมีอาการแล้ว มักต้องทรมานที่จะรอนานถึงสองปีจนอาการหายดีด้วยระยะของโรคเอง ทางเลือกที่สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยประกอบไปด้วยแนวทางเบื้องต้นดังนี้

  • ในระยะแรกของโรคที่มีการอักเสบ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดมากจึงยังไม่สามารถทำกายภาพบำบัดได้ จึงต้องรักษาประคับประคองด้วยการทานยาลดปวดลดอักเสบไปก่อน
  • ทำกายภาพบำบัด โดยการดัดข้อไหล่ให้สามารถยกแขนได้สูงขึ้น สามารถทำได้เมื่ออาการปวดเริ่มลดลงแล้ว โดยอาจทำด้วยตนเองเช่นการไต่กำแพงหรือการใช้มือไถลไปบนโต๊ะ (ภาพที่ 2) ผู้ป่วยอาจมาทำกายภาพบำบัดที่โรงพยาบาลโดยนักกายภาพบำบัดจะใช้เครื่องมือต่าง ๆ เช่นการประคบ หรือการใช้เครื่องอัลตราซาวด์เพื่อลดการอักเสบก่อน จากนั้นจึงเริ่มทำการดัดข้อไหล่
  • การฉีดยาเพื่อลดการอักเสบเข้าข้อไหล่ เป็นการฉีดยาในกลุ่มสเตียรอยด์เข้าข้อไหล่เพื่อทำให้การอักเสบลดลง ซึ่งจะช่วยทำให้อาการปวดไหล่ของผู้ป่วยลดลง และสามารถทำกายภาพบำบัดได้ง่ายขึ้น
  • การผ่าตัดส่องกล้อง ถือเป็นวิธีสุดท้ายที่เลือกใช้ในการรักษาในผู้ป่วยที่มีอาการไหล่ติดอย่างมาก และทำการรักษาวิธีอื่นทั้งหมดแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น แพทย์จะทำการส่องกล้องเข้าในข้อไหล่และใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อเลาะเยื่อหุ้มข้อไหล่ที่อักเสบจนหนาและแข็งตัวออก (ภาพที่ 3) และทำการดัดข้อไหล่ในห้องผ่าตัดจนยกแขนได้สุด

อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่อยากให้ผู้อ่านทุกท่านทราบคือ สาเหตุของอาการปวดไหล่มีมากมายนอกจากโรคไหล่ติด เช่นโรคเส้นเอ็นไหล่ฉีกขาด หากเริ่มมีอาการปวดไหล่ ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ แต่ควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางเพื่อวินิจฉัยสาเหตุที่ถูกต้อง และรับการรักษาที่เหมาะสมอย่างทันท่วงที และสุดท้ายนี้ ขอฝากไว้ว่า “ปวดไหล่ เป็น ๆ หาย ๆ อันตรายกว่าที่คิด”

ภาพประกอบ

ภาพที่ 1 อาการแสดงของผู้ป่วยโรคไหล่ติดที่ไม่สามารถยกมือขึ้นเกาหลังได้

ภาพที่ 2 การกายภาพบำบัดด้วยตัวเองในผู้ป่วยโรคไหล่ติด โดยการใช้มือไถลไปบนโต๊ะเพื่อดัดยืดข้อไหล่ ให้ไถลมือไปด้านหน้าเรื่อย ๆ เท่าที่จะทนปวดไหว ค้างท่านี้ไว้ 10 วินาที แล้วทำซ้ำ 10 ครั้ง

ภาพที่ 3 ภาพจากการผ่าตัดส่องกล้องข้อไหล่ สังเกตเยื่อหุ้มข้อไหล่ที่มีการอักเสบจนหนาและแข็งตัว (ลูกศร)

ความรู้เพื่อสุขภาพ: โรคที่ควรเฝ้าระวังในช่วงฤดูหนาว

ฤดูหนาวเป็นช่วงที่ทุกคนชื่นชอบ แต่ช่วงเวลานี้ก็อาจนำพาความเจ็บป่วยมาสู่ตัวเราและคนที่เรารักได้ เพราะอากาศที่เย็นมักเอื้ออำนวยต่อการอยู่รอดและการแพร่กระจายของเชื้อก่อโรคบางชนิด เช่น เชื้อไวรัส ได้เป็นอย่างดี

ฤดูหนาวเป็นช่วงที่ทุกคนชื่นชอบ แต่ช่วงเวลานี้ก็อาจนำพาความเจ็บป่วยมาสู่ตัวเราและคนที่เรารักได้ เพราะอากาศที่เย็นมักเอื้ออำนวยต่อการอยู่รอดและการแพร่กระจายของเชื้อก่อโรคบางชนิด เช่น เชื้อไวรัส ได้เป็นอย่างดี

โรคที่มักพบได้บ่อยในช่วงฤดูหนาว ได้แก่ โรคไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน ตาแดงหรือเยื่อบุตาอักเสบ ผิวหนังอักเสบ เป็นต้น

ในบทความนี้จะขอกล่าวถึงเฉพาะ โรคติดต่อของระบบทางเดินหายใจ ซึ่งก็คือโรคไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่นั่นเอง เพราะโรคนี้นอกจากจะทำให้คนป่วยทุกข์กายแล้ว ยังส่งผลทางอ้อมทำให้ต้องหยุดเรียน หยุดงาน เป็นภาระของผู้ปกครองที่ต้องมาดูแล มีค่าใช้จ่ายในครัวเรือนเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ในรายที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง หรือมีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง เวลาเจ็บป่วยก็อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น ไซนัสอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ หลอดลมอักเสบ และปอดอักเสบ เป็นต้น และที่สำคัญยังสามารถแพร่เชื้อให้คนรอบข้างได้ง่ายอีกด้วย

สาเหตุของความเจ็บป่วยและการติดต่อ

โรคไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส มีเชื้อไวรัสมากมายหลายชนิดที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคหวัด แต่สำหรับโรคไข้หวัดใหญ่นั้นมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ (influenza virus) ซึ่งมักจะพบการระบาดได้บ่อยในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาวของทุกปี

จากข้อมูลของกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค รายงานผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ในปี พ.ศ. 2565 มีจำนวน 79,374 ราย ซึ่งเป็นตัวเลขที่ต่ำกว่าความเป็นจริงเนื่องจากไม่มีระบบเฝ้าระวังเชิงรุก กลุ่มเด็กเล็กอายุ 0-4 ปี พบมากที่สุด รองลงมาได้แก่กลุ่มวัยรุ่นและผู้ใหญ่ตอนต้นอายุ 15-24 ปี และกลุ่มผู้ใหญ่อายุ 25-34 ปี ตามลำดับ

เชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคหวัดและไข้หวัดใหญ่ สามารถติดต่อกันได้ทางการหายใจผ่านละอองฝอยของน้ำมูก น้ำลาย และเสมหะจากการไอ จาม (droplet transmission) นอกจากนี้ยังสามารถติดต่อผ่านการสัมผัสละอองฝอยหรือพื้นผิวที่มีการปนเปื้อนเชื้อไวรัสได้ (contact transmission) โดยการเอามือที่มีการปนเปื้อนไปสัมผัสกับจมูกและปาก 

ระยะฟักตัวของเชื้อไวรัสไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่ คือ 1-5 วัน โดยเฉลี่ยประมาณ 2 วัน

รู้ได้อย่างไรว่าไม่สบายหรือมีภาวะแทรกซ้อน

เมื่อป่วยเป็นไข้หวัดจะมีอาการ ไข้ น้ำมูกไหล ไอ จาม คัดจมูก บางรายอาจไม่มีไข้ก็ได้ และมักจะหายได้เองภายใน 1 สัปดาห์ หากเป็นไข้หวัดใหญ่โดยมากจะมีไข้สูงแบบเฉียบพลัน หนาวสั่น ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามตัว ต่อมาจะมีอาการไอ เจ็บคอ บางรายอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ถ่ายเหลวร่วมด้วยได้ ส่วนใหญ่อาการทั่วไปจะดีขึ้นเองภายใน 3-7 วันหลังเริ่มมีอาการ

การตรวจวินิจฉัยว่าเป็นไข้หวัดใหญ่นอกจากจะมีอาการทางคลินิกที่สงสัยแล้ว การตรวจยืนยันทำได้โดยตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อไข้หวัดใหญ่จากสิ่งส่งตรวจที่เก็บจากทางเดินหายใจส่วนบนหรือส่วนล่าง ที่นิยมใช้ ได้แก่ ชุดตรวจหาแอนติเจนของเชื้อไวรัสด้วยวิธีรวดเร็ว (rapid influenza diagnostic test) และการตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสด้วยวิธี RT-PCR

ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงเมื่อป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนหรือเสียชีวิตได้ กลุ่มเสี่ยงดังกล่าว ได้แก่ เด็กเล็กอายุน้อยกว่า 2 ปี หรือผู้ใหญ่ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี โรคอ้วน หญิงตั้งครรภ์หรือหลังคลอดไม่เกิน 14 วัน ผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น โรคปอด โรคหัวใจ โรคไต เบาหวาน ภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือผู้ที่ต้องใช้ยากดภูมิคุ้มกัน ผู้ที่ได้รับการรักษาด้วยยาแอสไพรินเป็นเวลานาน เป็นต้น

ภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อย เช่น ไซนัสอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ หลอดลมอักเสบ และที่รุนแรงและอาจทำให้ถึงขั้นเสียชีวิตได้คือ ปอดอักเสบ

หากเกิดไซนัสอักเสบ มักจะพบในผู้ป่วยที่เป็นหวัดนานเกิน 10 วัน จะมีอาการน้ำมูกไหล น้ำมูกมีลักษณะข้นเหนียวสีเหลืองหรือเขียว บางครั้งจะมีน้ำมูกไหลลงคอ มีอาการไอ ลมหายใจมีกลิ่นเหม็น บางรายอาจมีอาการปวดบริเวณไซนัส เช่น โหนกแก้ม หน้าผาก รอบกระบอกตา เป็นต้น ผู้ที่มีภาวะแทรกซ้อนของหูชั้นกลางอักเสบโดยเฉพาะในผู้ป่วยเด็ก จะมีอาการไข้ ปวดหู หูอื้อ ในเด็กเล็กอาจมีอาการกระวนกระวาย ดึงใบหูข้างที่ปวด สำหรับหลอดลมอักเสบ ผู้ป่วยจะมีอาการไอ ไอแห้งๆ หรือไอมีเสมหะก็ได้ เสมหะจะเหนียวข้น บางรายไอมาก ไอถี่จนเจ็บหน้าอกหรือชายโครง อาการอาจจะเป็นอยู่นานหลายสัปดาห์ หากมีภาวะปอดอักเสบ ผู้ป่วยจะมีอาการไข้ ไอ หายใจเหนื่อยหอบ บางรายจะมีความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือด (SpO2) ลดลงกว่าค่าปกติ ซึ่งจะยืนยันภาวะนี้ได้โดยการทำเอกซเรย์ทรวงอก

จะให้การดูแลและป้องกันได้อย่างไร

A person wearing a mask and standing in front of a group of people

Description automatically generated

การดูแลรักษาไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่โดยทั่วไปเป็นการรักษาแบบประคับประคอง (supportive treatment) ให้การรักษาตามอาการเป็นหลัก ในรายที่เป็นกลุ่มเสี่ยงสำหรับไข้หวัดใหญ่หรือผู้ที่มีอาการรุนแรง  แนะนำให้ยาต้านไวรัสโดยเร็วที่สุดเพื่อหวังผลการรักษาที่ดี ควรให้ภายใน 48 ชั่วโมงแรก และให้ติดตามอาการอย่างใกล้ชิด หากไม่ดีขึ้นภายใน 48 ชั่วโมง หรือมีอาการรุนแรงขึ้น ให้พิจารณารับไว้รักษาในโรงพยาบาล ผู้ป่วยที่ไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรครุนแรง จะให้การรักษาตามอาการ อาจพิจารณาให้ยาต้านไวรัส ถ้ามีอาการมาไม่เกิน 48 ชั่วโมง และแนะนำให้กลับมาตรวจหากอาการไม่ดีขึ้นหลัง 48 ชั่วโมง ยาต้านไวรัสที่ใช้เป็นอันดับแรกคือ oseltamivir และให้นาน 5 วัน

การป้องกันที่ยังคงสำคัญ ได้แก่ การสวมหน้ากากอนามัยในที่ชุมชน เว้นระยะห่างจากผู้อื่น และล้างมือก่อนและหลังสัมผัสบริเวณใบหน้า หรือเมื่อมีการปนเปื้อนสารคัดหลั่งของระบบทางเดินหายใจ

ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันสำหรับโรคไข้หวัดใหญ่ พิจารณาให้ฉีดในเด็กอายุ 6 เดือนขึ้นไป โดยเฉพาะในเด็กที่อายุน้อยกว่า 2 ปี และผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรครุนแรง แนะนำให้ฉีดก่อนเข้าฤดูฝน อย่างไรก็ตามสามารถฉีดได้ตลอดทั้งปี

ถ้าอายุน้อยกว่า 9 ปี การฉีดครั้งแรกของชีวิต ต้องฉีด 2 เข็มห่างกัน 1 เดือน กรณีที่ปีแรกได้ฉีดไปเพียงครั้งเดียว ปีถัดมาให้ฉีด 2 ครั้ง จากนั้นจึงสามารถฉีดปีละครั้งได้ ในเด็กโตและผู้ใหญ่ให้ฉีดปีละครั้ง

เอกสารอ้างอิง

1. กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข. คำแนะนำการรักษาผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่สำหรับบุคลากรทางการแพทย์

    และสาธารณสุข ฉบับปรับปรุงวันที่ 2 ตุลาคม 2566.

2. กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข. กำหนดการให้วัคซีนตามแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค กระทรวง

    สาธารณสุข ปี 2566.